วางรากฐานชีวิต ด้วยพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรู้ทางการเงินนั้นเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะในยุคสมัยใด โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ที่สภาวะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีด้วยแล้ว การมีแผนทางการเงินที่เหมาะสมย่อมจะช่วยประคับประคองให้ชีวิตฟันฝ่าพายุทางเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าความรู้ทางการเงินยังไม่ได้รับการบรรจุในหลักสูตรภาคบังคับ ครั้นจะหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ก็มีมากเสียจนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน วันนี้ พวกเราทีมงาน Financial Operation จึงขอเป็นทีมหนึ่งที่มาช่วยแนะนำแนวคิดที่จะช่วยวางรากฐานทางการเงินให้กับชีวิตของพวกเรากันครับ

พีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เป็นแนวคิดที่แบ่งการวางแผนทางการเงินเป็นหลายระดับ โดยจะเรียงลำดับความสำคัญเพื่อให้มีรากฐานที่แข็งแกร่งก่อนที่จะสร้างชั้นต่อไป เหมือนกับพีระมิดที่สามารถยืนหยัดต่อการกัดกร่อนของธรรมชาติ ผ่านเวลามาอย่างยาวนานนั่นเองครับ

ในชั้นแรก หรือส่วนฐานของพีระมิดแบ่งเป็นสองส่วน คือ การวางแผนค่าใช้จ่าย (Cashflow Management) และเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน (Emergency Saving) โดย การวางแผนค่าใช้จ่าย อาจทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จัดแบ่งค่าใช้จ่ายเป็นส่วนต่างๆทั้งแบบคงที่ เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน และแบบไม่คงที่ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง โดยอาจใช้ เทคนิค 6 jars เพื่อให้มองเห็นภาพของกระแสรายรับและภาระทางการเงินของตัวเอง โดยที่ เทคนิค 6 jars คืออะไรนั้นเราจะมาพูดกันในบทความถัดไป

จากนั้นให้พยายามจัดสรรเงินแบ่งไว้เป็นเงินออมขั้นต้นเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งควรมีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3 - 6 เดือน หรือหากมีถึง 1 ปี ก็จะช่วยให้มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น โดยเก็บไว้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากหรือตราสารหนี้ เผื่อในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันแบบต้องออกจากงานทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา จะได้ยังมีเงินเก็บส่วนนี้ช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ยากลำบากก่อนที่จะได้งานใหม่ครับ

ชั้นที่สอง เป็น การถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) โดยจะเป็นการวางแผนเกี่ยวกับการทำประกันต่างๆ ทั้งในส่วนของ ชีวิต สุขภาพ และ ทรัพย์สิน หลายๆคนอาจจะลืมในส่วนนี้ไป โดยมองว่าการที่มีเงินสำรองฉุกเฉินหรือมีประกันกลุ่มของบริษัทอยู่แล้วจะทำประกันไปทำไม แต่ความเป็นจริงแล้วเงินสำรองฉุกเฉินนั้นมีไว้สำหรับค่าใช้จ่ายปกติรายเดือนเท่านั้น การเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลครั้งหนึ่ง อาจทำให้เงินสำรองฉุกเฉินหมดลงได้ภายในไม่กี่วัน หรือหากเจ็บป่วยหนักจนไม่สามารถทำงานได้ก็อาจเป็นเหตุให้ต้องออกจากงานและสูญเสียสวัสดิการในส่วนของประกันกลุ่มไปได้ นอกจากนี้หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับผู้ที่เป็นกำลังหลักในการหารายได้ของครอบครัว การมีประกันชีวิตจะช่วยให้คนข้างหลังยังมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อไปได้โดยไม่ลำบากมากนัก นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราควรมีประกันชนิดต่างๆไว้ครับ

หลังจากวางฐานของพีระมิดและป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ก็มาถึงชั้นที่สาม ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นที่สนใจจากคนส่วนมาก นั่นคือ การออมเงินและการลงทุนต่อยอดทรัพย์สินให้งอกเงย (Saving & Investment) ในส่วนนี้ แนะนำให้แบ่งเป้าหมายเป็นสามระยะ นั่นคือ ระยะสั้น (ต่ำกว่า 3 ปี) เช่น การเก็บเงินเพื่อเรียนต่อ ซื้อรถ หรือจัดงานแต่งงาน ระยะกลาง (3 - 7 ปี) เช่นการวางแผนซื้อบ้าน หรือเป็นทุนการศึกษาให้ลูก และระยะยาว (7 ปีขึ้นไป) ส่วนมากเป็นการเตรียมการเพื่อเกษียณ โดยจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเหมาะสมแตกต่างกันไปในแต่ละเป้าหมาย เช่น เงินฝากประจำสำหรับเป้าหมายระยะสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงของการสูญเสียเงินต้นที่ค่อนข้างต่ำ ในระยะกลาง อาจวางแผนลงทุนในหุ้นและกองทุน ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมา แต่ก็มีโอกาสเติบโตได้มากกว่า และสุดท้ายสำหรับแผนระยะยาวเนื่องจากยังมีระยะเวลานานกว่าจะต้องนำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ จึงอาจวางไว้ในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ หรือหากไม่ต้องการใจเสียกับความผันผวนของตลาด ก็อาจเลือกเป็นประกันประเภทบำนาญก็ได้เช่นกันครับ

ในชั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นส่วนยอดของพีระมิด จะเป็น การส่งต่อความมั่งคั่งให้กับลูกหลาน (Legacy Transfer) และคนที่เรารัก หลายๆคนอาจไม่ทันได้คิดถึงสิ่งนี้ แต่เมื่อเราจากไป คนที่ยังอยู่อาจไม่ทราบถึงสินทรัพย์ทั้งหมดที่เรามี ทำให้ความมั่งคั่งที่สะสมมาอย่างยากลำบากอาจสูญหายไป หรือไม่ได้รับการส่งต่ออย่างเหมาะสม ดังนั้นเราจึงควรที่จะมีพินัยกรรมที่ชัดเจน เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินที่ลำบากสะสมมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราจะไม่สูญเปล่า และถูกส่งต่อไปตามเจตจำนงค์ของเรา อย่าลืมที่จะปรับปรุงพินัยกรรมเป็นระยะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ นอกจากนี้การวางแผนภาษีมรดกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้คนข้างหลังได้รับสิ่งที่เราจะส่งต่อได้อย่างที่ตั้งใจไว้ครับ

นอกจากนั้น การวางแผนภาษี (Tax Planning) ก็เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่ไปด้วยในทุกลำดับชั้นของพีระมิด ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ค่าลดหย่อนบิดามารดาและบุตร เงินบริจาคต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น SSF, RMF, ThaiESG, ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันแบบบำนาญ โดยเงินส่วนที่ประหยัดได้นี้ก็สามารถนำไปต่อยอดให้งอกเงยต่อไปได้ การวางแผนภาษีจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับสุขภาพการเงินของเรา ปัจจุบันนี้มีหลายช่องทางที่ช่วยให้การคำนวณภาษีสามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น เช่น จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/project/caltools/www/html/tax/index.html?theme=default)

จะเห็นได้ว่าพีระมิดทางการเงินสามารถเป็นเหมือนเข็มทิศที่จะนำทางการเงินของเราให้ไม่หลงทางไปในโลกแห่งทุนนิยม แผนทางการเงินเหล่านี้ แม้ว่าอาจจะดูซับซ้อน แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ชีวิตเป็นไปได้อย่างราบรื่น ทางเราไม่อยากให้ท่านๆคิดว่าการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องไกลตัว อย่างน้อยๆขอให้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราพอจะทำได้ก่อน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือไม่ว่าเราจะคิดว่าแผนของเรานั้นดีเยี่ยมขนาดไหนก็ตาม หากปราศจากวินัยและความยืดหยุ่นที่สามารถพลิกแพลงได้ในยามคับขันแล้ว แผนเหล่านั้นก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นแล้วการเตือนตัวเองให้ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทและคอยปรับปรุงแผนการเงินให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ทางเราอยากให้ทุกท่านทำอยู่เสมอครับ

Next
Next

บริหารเงินด้วยเทคนิค 6 Jars (6 Jars Financial Management System)