บริหารเงินด้วยเทคนิค 6 Jars (6 Jars Financial Management System)

          จากที่เคยกล่าวไว้ในเรื่องของพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เทคนิค 6 Jars (6 Jars Financial Management System) คิดค้นขึ้นโดยคุณ T. Harv Eker เป็นแนวคิดในการบริหารค่าใช้จ่ายโดยแบ่งเงินรายได้ที่ได้รับมาเป็น 6 ส่วนเหมือนกับการแบ่งเงินใส่ในโหล 6 ใบ ซึ่งโหลแต่ละใบจะมีวัตถุประสงค์และค่าใช้จ่ายในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน

          หลายๆท่านอาจมีคำถามว่า ทำไมเราจึงควรบริหารเงินด้วยเทคนิคนี้ แค่หาเงินได้มากกว่าที่ใช้ก็น่าจะพอแล้ว หรือบางท่านอาจจะบอกว่าเงินที่หาได้ก็ไม่ได้มากมายอะไร ถ้าแบ่งเป็นส่วนก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก แล้วจะใช้ชีวิตยังไง ทางเรา Financial Operation ขอให้คุณเชื่อเถอะครับว่าการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีจะเป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยให้เราบริหารเงินได้ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้การบริหารเงินที่ดีจะช่วยให้เรามีเหลือเก็บ และมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น จนนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้นั่นเองครับ

เริ่มต้นกันที่โหลแรกคือโหลสำหรับ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น (Necessities) ซึ่งมักจะเป็นรายจ่ายที่มีมากที่สุด จึงจัดสรรไว้ 55% ของรายได้ ค่าใช้จ่ายในโหลนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือถ้าหากขาดไปแล้วเราจะเดือดร้อน เช่นค่าเช่า/ผ่อนบ้าน ค่าน้ำ-ไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหาร ค่าเดินทาง รวมถึงเงินสำหรับปิดความเสี่ยงในชั้นที่สองของพีระมิดทางการเงิน เพื่อป้องกันรายจ่ายที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ด้วยการซื้อประกันประเภทต่างๆ ซึ่งจะมาแนะนำให้รู้จักกันในบทความต่อๆไป

เมื่อเราทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแล้ว ก็จะทราบถึงปริมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ครับ อย่าลืมว่าความจำเป็นของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับค่าใช้จ่ายที่จัดเข้ามาในประเภทนี้ครับ แม้ว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่วางไว้จะไม่ได้เป็นกฎตายตัวและอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากว่ารายจ่ายจำเป็นที่มีในปัจจุบันมีเกินกว่า 55% ไปมาก ก็ขอให้พยายามหาทางลดค่าใช้จ่ายลง หรือหารายได้เสริม เพื่อพยุงให้สุขภาพทางการเงินยังไม่แย่จนเกินไปนะครับ ในทางกลับกัน ถ้าหากว่ารายจ่ายที่จำเป็นมีน้อยกว่า 55% ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเราอาจแบ่งเงินส่วนเกินไปเติมให้โหลอื่นๆได้ครับ

โหลที่สองเป็นโหล สำหรับเงินออมระยะยาว (Long Term Savings For Spending) ส่วนนี้จะแบ่งไว้ที่ 10% เป็นเงินออมสำหรับความมั่นคงในชีวิต และสำหรับรายจ่ายก้อนใหญ่ในอนาคต โดยที่จะไม่เอาออกมาใช้ในระยะเวลาอันใกล้ เช่นเงินสำรองฉุกเฉิน 3 - 6 เดือน ที่เคยกล่าวถึงในชั้นแรกของพีระมิดทางการเงิน เงินสำหรับดาวน์รถหรือบ้าน เงินทุนการศึกษาให้ลูก หรือเงินสำหรับทริปท่องเที่ยวในฝัน รวมถึงเงินสำหรับเกษียณ สำหรับเงินโหลนี้ สามารถเก็บไว้ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ต่างกันตามระยะเวลาของเป้าหมายที่แบ่งเป็นระยะสั้น-กลาง-ยาว เช่น บัญชีเงินฝากประจำ หุ้น กองทุนรวม ทองคำ หรือประกันประเภทบำนาญ ดังที่เคยกล่าวถึงในชั้นที่สามของพีระมิดทางการเงินครับ

สำหรับโหลที่สามเป็นโหลแห่ง การศึกษาและพัฒนาตัวเอง (Education) ด้วยโลกยุคปัจจุบันที่หมุนไปเร็วมากกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ความรู้ความสามารถที่เราร่ำเรียนมาและมีอยู่ในตอนนี้อาจล้าหลังได้ภายในเวลาไม่กี่ปี เรียกได้ว่าการที่เราหยุดอยู่กับที่ในขณะที่คนอื่นๆกำลังก้าวไปข้างหน้า ก็เหมือนกับว่าเรากำลังเดินถอยหลังอยู่นั่นเอง ขอให้กันเงินไว้ประมาณ 10% ของรายได้เพื่อเป็นทุนสำหรับต่อยอดความรู้ความสามารถ เช่นการลงคอร์สธุรกิจที่สนใจ หรืออบรมเพิ่มทักษะใหม่ๆ ถ้าหากได้ใบรับรองด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองได้ครับ หลายๆบริษัทอาจมีเงินเพิ่มให้สำหรับทักษะต่างๆที่มี เช่น คะแนนภาษาอังกฤษอย่าง TOEIC ก็สามารถนำมาเพิ่มฐานเงินเดือนได้ครับ ในบางครั้งความรู้ความสามารถที่ฝึกฝนเพิ่มขึ้นมาอาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้กับเงินที่เราจะได้มา แต่สามารถเพิ่มโอการในการเปลี่ยนงาน เลื่อนตำแหน่ง หรือเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้ครับ อย่าลืมว่าการลงทุนที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การลงทุนในตลาดเงินใดๆ แต่เป็นการลงทุนในตัวเองนะครับ

นอกจากเงินสำหรับลงทุนให้กับกับตัวเองแล้ว ก็เป็นเงินสำหรับการลงทุนต่อยอดให้กับทรัพย์สินให้งอกเงยครับ ให้แบ่งเงิน 10% ใส่ในโหลที่สี่เพื่อเป็น เงินสำหรับการลงทุนเพื่ออิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) โดยเป้าหมายสูงสุดของโหลนี้จะอยู่ที่การสร้าง passive income ให้กับตัวเองครับ เราสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แตกต่างกันตามที่เคยกล่าวถึงในชั้นที่สามของพีระมิดทางการเงิน เพื่อตอบสนองเป้าหมายของการเป็นอิสระจากการทำงานได้ครับ โหลใบที่สี่นี้อาจจะฟังดูคล้ายกับโหลที่สองสำหรับเงินออม เนื่องจากมีการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่คล้ายกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือ ในโหลที่สองเป็นเงินออมเพื่อใช้ แต่โหลที่สี่นี้เป็นเงินออมเพื่อเก็บ ขอให้มองโหลนี้เป็นเหมือนกับห่านทองคำ โดยเราจะเพียงแค่เก็บไข่ทองคำที่ออกมา ซึ่งคือดอกผลจากการลงทุน โดยเราจะไม่ฆ่าห่าน หรือก็คือจะไม่ถอนเงินต้นออกมาจากโหลนี้ครับ

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอะไรก็ตาม การเดินทางสายกลางที่ไม่ตึงจนเกินไป และไม่หย่อนจนเกินไป ย่อมเป็นทางที่เหมาะสม หากมุ่งมั่นเก็บเงิน ควบคุมค่าใช้จ่าย ลงทุน และพัฒนาตัวเอง โดยไม่มีการผ่อนคลายเลยก็อาจก่อให้เกิดความเครียดได้ จึงมีการจัดสรรเงิน 10% ไว้ในโหลที่ห้า เพื่อให้ รางวัลกับตัวเอง (Play) เงินในส่วนนี้มีไว้เพื่อความเพลิดเพลิน เติมความสุขให้ชีวิต โดยอาจใช้ไปกับงานอดิเรกที่ชื่นชอบ ทริปท่องเที่ยวสั้นๆสุดสัปดาห์ ดินเนอร์มื้อหรู หรือของสะสมที่ชวนให้สบายใจเมื่อได้ครอบครอง เงินโหลนี้สามารถสะสมไว้ได้ ถ้าหากสิ่งที่อยากได้มีราคาสูงกว่างบประมาณในแต่ละเดือน แต่ขอให้สะสมไว้ไม่เกินสามเดือนนะครับ เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดจากการที่จะไม่ได้ใช้เงินเติมความสุขให้กับตัวเองเลย และต้องระวังอย่าใช้เพลินจนเกินไปนะครับ

โหลที่หกสำหรับ 5% สุดท้าย โหลสุดท้ายนี้ เป็นโหลสำหรับ การคืนให้กับสังคม (Give) เมื่อเราสามารถจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆได้ดีขึ้นแล้ว ก็เป็นเวลาสำหรับการส่งต่อเพื่อให้คืนกับสังคมรอบตัวครับ เงินในโหลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริจาคอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเงินที่จะให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูงอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินใส่ซองช่วยงานต่างๆ เงินของขวัญตามเทศกาล เช่น เงินแต๊ะเอียให้หลานๆ รวมถึงของขวัญในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันครบรอบแต่งงาน วันคริสต์มาส และวันปีใหม่ สิ่งสำคัญคือนอกเหนือจากความสุขจากการเป็นผู้ให้แล้ว เราจะยังสามารถคุมค่าใช่จ่ายในส่วนนี้ไม่ให้มากเกินไปได้ครับ

      จะเห็นได้ว่าเทคนิค 6 Jars นี้สามารถจัดระเบียบค่าใช้จ่ายได้อย่างครอบคลุมตามประเภทและระยะเวลาของเป้าหมายทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากสัดส่วนของค่าใช้จ่ายที่แบ่งไว้ในโหลต่างๆไม่ใช่ค่าบังคับที่ตายตัว อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่าสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม เช่น ในอนาคตหากมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายที่จำเป็นยังคงเท่าเดิม ก็สามารถลดสัดส่วนของโหลที่หนึ่ง มาเพิ่มเงินในโหลอื่นๆได้ โดยเราอาจใช้บัญชีธนาคาร บัตรเงินสดหรือบัตรเครดิตเป็นตัวแทนโหลแต่ละใบ แต่ขอให้ต้องระวังเรื่องค่ารักษาบัญชีหรือค่าธรรมเนียมบัตรด้วยนะครับ

     นอกจากนี้ หากมีรายได้เสริม ได้รับเงินพิเศษที่ไม่คาดคิด เช่น ถูกหวย หรือได้เงินจากการปันผล ทาง Financial Operation ขออนุญาตแนะนำให้เก็บเงินส่วนนี้ไว้สำหรับการลงทุนเพื่อต่อยอดต่อๆไป รวมถึงขอให้ทุกท่านใช้ชีวิตอย่างมีวินัยและความยืดหยุ่นไปพร้อมๆกัน เพื่อการมีอิสรภาพทางการเงินที่สมบูรณ์ครับ

Previous
Previous

วางรากฐานชีวิต ด้วยพีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)

Next
Next

คำศัพท์ที่ท่านควรรู้ก่อนก้าวเข้าสู่โลกของประกันชีวิต (LIFE INSURANCE GLOSSARY)