คำศัพท์ที่ท่านควรรู้ก่อนก้าวเข้าสู่โลกของประกันชีวิต (LIFE INSURANCE GLOSSARY)

หลายท่านอาจจะรู้สึกขยะแขยงเมื่อพูดถึงประกันชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกรำคาญเวลาถูกตัวแทนตื๊อขาย ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ในเล่มกรมธรรม์ที่พยายามอ่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจเสียที หรือแม้กระทั่งไม่รู้ว่าเงินที่ตนจ่ายให้กับบริษัทประกันตลอดมานั้นจะเป็นประโยชน์กับตัวท่านเองและคนที่ท่านรักอย่างไรบ้าง แต่ขอให้ท่านทราบไว้ว่าการปิดใจกับประกันชีวิต ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ท่านเป็นแผลแล้วไม่ยอมเย็บด้วยความเห็นผิดคิดว่าร่างกายสามารถสมานแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ปล่อยเอาไว้เอง

ทีมงาน Financial Operation คงไม่สามารถทำให้ท่านรักตัวแทนประกันชีวิตหรือบริษัทประกันชีวิตมากขึ้นได้ แต่อย่างน้อยที่สุด หากพวกเราสามารถทำให้ท่านเข้าใจถึงประโยชน์ที่ประกันชีวิตสามารถให้ท่านได้ ผ่านความเข้าใจคำศัพท์ในวงการประกันชีวิตได้ นั่นถือว่าพวกเราประสบความสำเร็จของการเป็นตัวแทนประกันชีวิตแล้ว

คำศัพท์เหล่านี้ คือ คำศัพท์พื้นฐานที่ท่านจำเป็นต้องเข้าใจ เพราะท่านจะได้พบมันในทุกช่องทางที่ประกันชีวิตจะเข้าถึงท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นใบปลิวจากบูธประกันชีวิต ใบเสนอขายที่ท่านมักขอให้ตัวแทนส่งมาให้ในช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งคำโฆษณาตามสื่อต่างๆที่ท่านมักเข้าใจผิดว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อจากบริษัทประกันชีวิต

1. สัญญาหลัก (Policy) คือ สัญญาที่จะจ่ายเงินก็ต่อเมื่อท่านจากไปในระยะเวลาที่กรมธรรม์มีผลบังคับหรือเมื่อท่านมีชีวิตอยู่จนถึงวันกำหนดครบสัญญา กล่าวคือ ตายหรืออยู่ถึงเท่านั้นจึงจ่าย

ท่านมักจะจ่ายเงินให้บริษัทประกันเข้าสัญญาหลักเป็นเงินจำนวนคงที่ทุกปี ไม่มีการปรับเพิ่มตามอายุหรือสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เล่าให้สั้นเข้า “ยิ่งซื้อตอนอายุยิ่งน้อย ยิ่งจ่ายถูก” 

2. สัญญาเพิ่มเติม (Rider) นี่คือสัญญาที่เข้าใจง่ายที่สุดในบริษัทประกันชีวิต และเป็นสิ่งที่คนทุกคนแม้จะไม่มีความรู้เรื่องประกันเลยก็ตามต่างโหยหามากที่สุด มันคือ สัญญาที่จะให้การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของท่านเป็นเงินสด แม้ว่าท่านจะไม่ถึงแก่ชีวิตก็ตาม ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การพิการจากอุบัติเหตุ การไม่สามารถประกอบอาชีพได้อีกตลอดชีวิต ความเจ็บป่วยจนต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล การป่วยเป็นโรคร้ายแรง เป็นต้น

สัญญาเพิ่มเติมนี้ เงินที่ท่านต้องจ่ายให้กับบริษัทในแต่ละปีอาจไม่คงที่ ท่านอาจต้องจ่ายเงินในราคาที่เพิ่มขึ้นตามอายุ เช่น หากท่านจ่ายเงินทุกปี ปีละ 5 หมื่น ส่วนอีก 5 ปีผ่านไปเมื่อท่านอายุเพิ่มมากขึ้น อาจต้องจ่าย 6 หมื่นบาท เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทอาจพิจารณาตามประวัติการเคลมประกันของท่านด้วย ยิ่งทำวงเงินถูก แต่เคลมเยอะจนเกือบครบวงเงินซึ่งปริมาณเยอะกว่าเงินที่ท่านจ่ายให้บริษัทประกันค่อนข้างมาก ก็คงถือเป็นการยุติธรรมหากท่านจะถูกบริษัทเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าประกันเพิ่มในภายหลัง

3. เบี้ยประกัน (Premium) คือ จำนวนเงินที่ท่านต้องจ่ายให้กับบริษัทประกันในแต่ละปี หรืออาจจะเป็นรายเดือน / ราย 3 เดือน หรือ ราย 6 เดือน ขึ้นกับแบบประกันและบริษัทประกันอีกด้วย 

4. จำนวนเงินเอาประกันภัย (Sum insured) หมายถึง เงินที่จะถูกส่งให้ใครคนใดคนหนึ่งเมื่อกรมธรรม์นั้นถึงเวลาที่ต้องทำหน้าที่ของมัน ผู้รับเงินนั้นอาจเป็นท่าน หากท่านอยู่จนครบสัญญากรมธรรม์ หรืออาจเป็นคนที่ท่านรักที่ท่านได้ตั้งใจมอบเงินนั้นให้พวกเขา หากท่านจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร

5. ผู้เอาประกันภัย (Insured) ที่จริงก็คือคำสุภาพของผู้ที่เป็นเจ้าของกรมธรรม์ประกันเล่มนั้น มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ท่านอาจเป็นเจ้าของกรมธรรม์ โดยที่ท่านให้ผู้อื่นจ่ายเงินค่ากรมธรรม์แทนท่านก็สามารถทำได้

6. ผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiary) คือ คนที่ท่านรักและต้องการมอบเงินก้อนโตให้พวกเขาเมื่อท่านจากโลกนี้ไป พวกเขาที่ท่านรักเหล่านี้อาจเป็นบุคคล เช่น บุตร ภรรยา บิดามารดา คนที่ท่านรัก หรือแม้กระทั่งบริษัทหรือองค์กรต่างๆที่กฎหมายรับรองการเป็นนิติบุคคล

7. ระยะเวลาเอาประกันภัย (Policy period) สรุปโดยง่ายที่สุด ก็คือระยะเวลาที่ท่านจะได้รับความคุ้มครองในกรมธรรม์นั้น

8. ระยะเวลาชำระเบี้ย (Payment period) คือ จำนวนปีที่ท่านจะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัท ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว อาจน้อยกว่าหรือเท่ากับระยะเวลาเอาประกันภัย ขึ้นอยู่กับการวางแผนที่ท่านกับตัวแทนประกันชีวิตช่วยกันออกแบบ

9. มูลค่ากรมธรรม์ (Value) คือการที่กรมธรรม์ของท่านมีมูลค่าอยู่ในตัวเองตลอดเวลาเมื่อท่านชำระเบี้ยประกันให้กับบริษัทต่อเนื่องมาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมูลค่าดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นตัวช่วยเวลาที่ท่านเกิดวิกฤตทางการเงิน โดยท่านสามารถนำกรมธรรม์ไปคืนบริษัทเพื่อนำเงินก้อนกลับคืนมา หรือ ใช้กรมธรรม์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงินออกมาจากบริษัท เป็นต้น การกระทำดังกล่าว เรียกว่าการแปลงมูลค่ากรมธรรม์  

และการแปลงมูลค่ากรมธรรม์คือสิ่งที่ช่วยอธิบายคำพูดของตัวแทนทั้งหลายที่กล่าวกับท่านว่า เงินที่ท่านจ่ายให้กับกรมธรรม์สัญญาหลักนั้นไม่เคยสูญเปล่า โดยการแปลงมูลค่ากรมธรรม์นั้น สามารถทำได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

แบบแรก คือ การเอาเงินก้อนกลับคืนมา โดยที่กรมธรรม์เล่มนั้นรวมไปถึงทุกสัญญาเพิ่มเติมที่พ่วงไว้ จะสิ้นผลบังคับทันที เรียกว่า การแปลงมูลค่าเวนคืนเงินสด (Surrender Value)

แบบที่สอง คือ การหยุดส่งเงิน แต่ยังขอรับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ต่อไป แล้วหากท่านจากไปหรืออยู่ครบสัญญา จะมีเงินจำนวนหนึ่งออกมาจากกรมธรรม์แต่เงินจำนวนนั้นจะน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ซื้อไว้ตอนแรก แต่เงินจำนวนนั้นจะมากกว่ามูลค่าเวนคืนเงินสดอยู่พอสมควร เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า การแปลงมูลค่าใช้เงินสำเร็จ (Paid-up Value)

แบบที่สาม คือ การหยุดส่งเงิน แล้วบริษัทประกันจะมีเวลากำหนดมาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะน้อยกว่าระยะเวลาเอาประกัน หากท่านจากไปภายในระยะเวลาที่กำหนด เงินเอาประกันภัยแบบเต็มจำนวนจะถูกส่งไปให้กับคนที่คุณรัก แต่เมื่อเลยระยะเวลาที่บริษัทประกันกำหนดแล้วจะถือว่ากรมธรรม์เล่มนั้นจะสิ้นผลบังคับทันที เรียกการกระทำเช่นนี้ว่า การแปลงมูลค่าขยายระยะเวลา (Extended term insurance)

โดยที่การแปลงมูลค่ากรมธรรม์ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้เงินสำเร็จหรือขยายระยะเวลา จะทำให้ท่านไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมอีกต่อไป

ประเด็นถัดมา คือ การกู้เงินด้วยกรมธรรม์ (Policy loan) กล่าวสั้นๆ มันคือการที่ท่านนำมูลค่าเวนคืนออกมาใช้ โดยที่ท่านต้องจ่ายเงินคืนให้กับบริษัทประกันชีวิตพร้อมดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด แต่ความคุ้มครองทั้งสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติมยังคงมีอยู่อย่างครบถ้วน

หลายท่านอาจกล่าวว่าบริษัทประกันเอาเปรียบ เพราะ จะมีใครในโลกนี้อีกที่ให้คนคนหนึ่ง “กู้” เงินของตัวเอง แต่อย่างไรก็ดี ในยามวิกฤตต่างๆ หากท่านมองด้วยใจเป็นกลาง ท่านอาจพบว่ามันเป็นการยากมากที่จะมีใครสักคนมาให้เงินกับท่านฟรีๆ หรือแม้แต่การกู้เงินก็อาจเป็นการยากที่จะหาสถาบันการเงินที่ไว้ใจท่านมาให้เงินของเขาพร้อมคิดดอกเบี้ยกับท่าน เพราะพวกเขามีสิทธิที่ชอบธรรมอย่างยิ่งที่จะไม่เชื่อว่าท่านจะมีความสามารถพอในการหาเงินมาคืนพวกเขา ดังนั้น ในเวลานั้น กรมธรรม์ก็อาจเป็นทางเลือกท้ายๆให้คนมีวิสัยทัศน์ที่สะดุดล้ม ให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

และนี่ก็คือคำศัพท์ต่างๆที่อาจทำให้ท่านเข้าใจกรมธรรม์ประกันชีวิตมากขึ้น ผมยังขอยืนยันว่าท่านไม่จำเป็นต้องทำประกันชีวิตก็ได้ หากมันไม่ตอบโจทย์การคุ้มครองความเสี่ยงชีวิตของท่านด้านใดด้านหนึ่งเลย แต่การรู้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการประกันชีวิต จะช่วยให้ท่านสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนชอบอย่างประกันชีวิต ในวันที่ท่านอาจต้องการใช้มัน

Previous
Previous

บริหารเงินด้วยเทคนิค 6 Jars (6 Jars Financial Management System)

Next
Next

อุดรูรั่วทางการเงินด้วยประกันแบบต่างๆ (Life insurance 101)